เชียงใหม่ นพบุรี ศรีนครพิงค์ หรือเวียงพิงค์ ของพ่อขุนเม็งรายมหาราชในอดีต หรือเชียงใหม่ในวันนี้เป็นเมืองที่ รวบรวมศิลปกรรม โบราณวัตถุ ตลอดจนวัฒนธรรมดั้งเดิมของล้านนาไทยเอาไว้

พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่ ที่วัดพระสิงห์

       วัดพระสิงห์ หรือมีชื่อเต็มว่า วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เป็นวัดที่ประดิษฐาน พระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา พระพุทธรูปเป็นศิลปะเชียงแสน รู้จักกันในชื่อ "เชียงแสนสิงห์หนึ่ง" วัดพระสิงห์ มีสถาปัตยกรรมล้านนาอันงดงามเป็นที่รู้จักและคุ้นชื่อกันอย่างดี วัดพระสิงห์ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงใหม่ที่ให้ความศรัทธาและจะเดิน ทางมาเคารพสักการะกันอย่างเนื่องแน่นเป็นประจำ ทุกปี ตามคติล้านนา คนเกิดปีมะโรงต้องมาไหว้พระสิงห์ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต

                                                       โบสถ์

       เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขโถงทั้งด้านหน้าด้านหลัง ลักษณะอาคารและการตกแต่งเป็นแบบศิลปะล้านนาโดยแท้ ด้านข้างแลเห็นหน้าต่างขนาดใหญ่ตีเป็นช่องแบบไม้ระแนง แต่ภายในเป็นหน้าต่างจริง มีลายปูนปั้นบริเวณซุ้มประตูทางเข้า หน้าบันมีลักษณะวงโค้งสองอันเหนือทางเข้า
ประกบกัน เรียกว่า คิ้วโก่ง เหนือคิ้วโก่งเป็นวงกลมสองวงคล้ายดวงตา ที่เสาและส่วนอื่นๆ มีปูนปั้นนูน มีรักปั้นปิดทองวิจิตรพิศดารมาก

                                                     หอไตร 

       สร้างเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ผนังด้านนอกประดับด้วยทวยเทพปูนปั้นทำเป็นรูปเทพพนมยืน บ้างก็เหาะประดับอยู่โดยรอบ เป็นฝีมือช่างสมัยพระเมืองแก้ว ประมาณ พ.ศ. 2476 เจ้าแก้วนวรัฐได้ซ่อมแซมขึ้นใหม่ที่ฐานหอไตรปั้นเป็นลายลูกฟักลดบัว ภายในประดับด้วยรูปสัตว์หิมพานต์ เช่น นางเงือกมีปีก คชสีห์มีปีก กิเลน เป็นต้น และมีลายประจำยามลักษณะคล้ายลายสมัยราชวงศ์เหม็งของจีน

                                                  วิหารลายคำ

       วิหารลายคำนี้มีลวดลายปูนปั้นที่สวยงามปราณีตบรรจงมากแสดงให้เห็นฝีมือของ ช่างในยุคนั้นว่าเจริญถึงที่สุด ตัววิหารลายคำสร้างตามแบบศิลปกรรมของภาคเหนือ มีรูปปั้นพญานาค 2 ตัวอยู่บันไดหน้า และใกล้ ๆ พญานาค มีรูปปั้นสิงห์ 2 ตัว ภายในเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” บนผนังด้านหลังพระประธาน เสาหลวง (เสากลม) เสาระเบียง (เสาสี่เหลี่ยม) มีภาพลายทองพื้นแดงเป็นลวดลายต่างๆ เต็มไปหมด ด้านหลังพระประธานยังมีรูปปราสาทแวดล้อมด้วยมังกรและหงส์ มีความงดงามน่าชมยิ่ง ผนังวิหารด้านเหนือมีภาพจิตรกรรมเขียน เรื่องสังข์ทอง ด้านใต้เรื่องสุวรรณหงส์ นับเป็นภาพที่น่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องสังข์ทองพบเพียงแห่งเดียวที่นี่