เชียงใหม่ นพบุรี ศรีนครพิงค์ หรือเวียงพิงค์ ของพ่อขุนเม็งรายมหาราชในอดีต หรือเชียงใหม่ในวันนี้เป็นเมืองที่ รวบรวมศิลปกรรม โบราณวัตถุ ตลอดจนวัฒนธรรมดั้งเดิมของล้านนาไทยเอาไว้

ออบหลวง สรรค์สร้างความสวยงามและน่ากลัวในจุดเดียวกัน



       อุทยานแห่งชาติออบหลวง ออบหลวงเป็นสถานที่น่าเที่ยวที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ความสวยงามและน่ากลัวไว้ในจุดเดียวกัน กล่าวคือ เบื้องล่างเป็นแม่น้ำที่ไหลคดเคี้ยวผ่านช่องเขาขาดตรงออบหลวง ช่องเขานี้มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันและแคบมาก บีบทางน้ำไหล ดังนั้น แม่น้ำตรงนี้จึงเชี่ยวจัด เสียงน้ำกระทบหน้าผาดังสนั่น รอบๆ บริเวณชายน้ำด้านเหนืองดงามไปด้วยหมู่ไม้น้อยใหญ่ ร่มรื่นอยู่ตลอดเวลาชั่วนาตาปี



       คำว่า “อ๊อบ” หรือ “ออบ” เป็นภาษาท้องถิ่นหมายถึง ช่องแคบหลวง” หมายถึง ใหญ่ออบหลวง” คือชื่อเฉพาะที่ใช้เรียกช่องแคบหินขนาดยักษ์ที่มีลำน้ำแม่แจ่มบีบตัวแทรกผ่านไป อีกนัยหนึ่งคือ หุบเขา ที่มีสายธารไหลผ่าน (Canyon) ภายในออบ


        น้ำที่ตกไปกระทบแก่งหินละอองน้ำจะกระจายฟุ้งเสียงดังสนั่นหวั่นไหวตลอดเวลา ลานหินและโตรกผาที่ถูกน้ำอันเชี่ยวกรากกัดกร่อนปีแล้วปีเล่า ทำให้หินมีลักษณะเป็นลวดลายรูปร่างแปลกตาสวยงามมาก ทำให้ผู้ไปเยือนต้องพิศวงว่ากำแพงหินสูงใหญ่ที่ขวางลำน้ำอยู่นั้น แตกทะลุหรือแยกตัวให้น้ำผ่านไปได้อย่างไร


       เมื่อเดินไปถึงสะพานเชื่อมช่องเขาขาดจะเป็นอีกหนึ่งจุดที่นักท่องเที่ยวจะได้ชมความงดงามของทัศนียภาพออบหลวง และภายในบริเวณอุทยานฯ มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก เช่น เครื่องมือหินกระเทาะแกนหินและสะเก็ดหิน ขวานหินขัด ชิ้นส่วน เครื่องประดับและภาชนะสำริด ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ที่สำคัญคือ พบโครงกระดูกของมนุษย์ในสมัยยุคสำริด มีอายุระหว่าง 2,500 - 3,500 ปี ก่อนคริสตกาล หลุมฝังศพของมนุษย์โบราณ และภาพเขียนสีขาวที่บริเวณเพิงผาช้าง

       วิวนิยมอุทยานแห่งชาติออบหลวง หลายครั้งที่เคยได้ยินภาษาพื้นๆ ชาวนักท่องเที่ยวว่าวิวประมาณนี้เรียกว่า วิวสิ้นคิด แต่ผมขอเรียกให้ดูดีหน่อยว่า วิวนิยมก็แล้วกันนะครับ ภาพแบบนี้มักจะปรากฏอยู่ทั่วไปในเว็บไซต์หรือว่าหนังสือนิตยสารท่องเที่ยวเพราะมีป้ายชื่อ และมุมที่มองเห็นออบหลวงได้อย่างชัดเจนที่สุด


       มองลำธารบนออบหลวง ลำธารที่เห็นเบื้องล่างนี้เป็นลำธารที่นิยมมาเล่นล่องแก่งกันพอสมควร ในบางฤดูน้ำในลำธารไหลเชี่ยวมาก จนทำให้การล่องแก่งแห่งนี้มีระดับที่สูงพอควร (การเล่นล่องแก่งปกติบอกเป็นระดับ แต่ละระดับจะเชี่ยวต่างกันไป) ภาพนี้เห็นกันชัดๆ ไปเลยว่าน้ำในลำธารนี้ไหลแรงแค่ไหน


หลุมฝังศพสมัยโลหะตอนปลาย (สำริด)
        นายสายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักโบราณคดี กรมศิลปากร พบหลุมฝังศพแห่งนี้และทำการขุดค้นร่วมกับดร.มารีแอล ซังโตนิ และดร.จอง ปิแอร์ ปอโทร นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ในโครงการก่อนประวัติศาสตร์ไทยฝรั่งเศส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ลักษณะเป็นหลุมร่องยาวด้านหัวและท้ายมนคล้ายวงรี ขนาดยาว 2 เมตร กว้าง 0.85 เมตร ลึกประมาณ 0.4-0.5 เมตร ในหลุมมีโครงกระดูกมนุษย์เพศหญิง 1 โครง สภาพไม่สมบูรณ์ เหลืออยู่เพียงฟัน 32 ซี่ กระดูกแขนและขา ส่วนกระโหลกศรีษะ กระดูกส่วนลำตัว ผุกร่อน และถูกน้ำเซาะพัดพาไปหมดแล้ว โครงกระดูกฝังในท่านอนหงาย แขนแนบลำตัว ที่ข้อมือซ้ายสวมกำไลสำริด 9 วง กำไลเปลือกหอยทะเล 1 วง ที่ข้อมือขวาสวมกำไลสำริด 5 วง กำไลเปลือกหอยทะเล 1 วง ที่คอสวมสร้อยลูกปัดเปลือกหอยและหินคาร์นิเลียน บริเวณขาช่วงล่างมีภาชนะดินเผาใส่ไว้ 5 ใบ ส่วนใหญ่ถูกทุบแตกและโรยไว้บนพื้นหลุมศพก่อนวางศพ และใส่ไว้ข้างๆ ศพ ตรงบริเวณกลางลำตัวพบกกำไลสำริดหักและม้วนงอ 2 วง วางอยู่ด้วย
       หลุมฝังศพและโครงกระดูกนี้เป็นหลักฐานสำคัญทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่


       ภาพเขียนโบราณบนออบหลวง นอกจากสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแล้ว ยังมีสิ่งที่เกิดจากฝีมือมนุษย์โบราณให้ดูอีกด้วย นี่ก็คือภาพเขียนโบราณ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายสัตว์ต่างๆ


       โป่งดินออบหลวง บนออบหลวงมีโป่งดินธรรมชาติที่พวกสัตว์ต่างๆ จะมากิน คล้ายๆ กับโป่งดินเขาใหญ่ตอนกลางคืนมีสัตว์มากมายมาหากิน ทำให้นักท่องเที่ยวได้ส่องสัตว์บริเวณโป่งต่างๆ